ในการศึกษาวิจัย
เรามักพบเห็นการอ้างอิงค่าพิกัดในพื้นที่ศึกษา
ด้วยแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุด L7018 เป็นแผนที่ฐานกัน
แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า
ในพื้นที่ของเรานั้น ประกอบไปด้วยแผนที่ภูมิประเทศ ระวางใดบ้าง และมีค่าพิกัดเท่าใด
ซึ่งเราสามารถทราบได้โดยเข้าไปตรวจสอบได้จากสารบัญแผนที่ด้านล่างนี้
เรามารู้จักลักษณะของแผนที่ ลำดับชุด L7018 กันอย่างคร่าวๆ นะครับ
แผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุด L7018 จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร
มีมาตราส่วนเท่ากับ 1 : 50,000 (หมายถึง ระยะทาง 1 เซนติเมตรในแผนที่เท่ากับระยะทางครึ่งกิโลเมตรในภูมิประเทศจริง)
มีช่วงต่างเส้นชั้นความสูง 20 เมตร
บริเวณมุมล่างซ้ายของแผนที่จะมีค่าพิกัดครบทุกตำแหน่ง (UTM)
ชื่อระวาง สามารถอ่านได้จากตำแหน่งตรงกลางบนสุดของแผนที่ดังภาพ
โดยชื่อดังกล่าวจะแสดงถึงขอบเขตการปกครองที่มีเนื้อที่มากที่สุดในแผนที่ เช่น ตัวอย่างคือ อำเภอบางละมุง ไม่ได้หมายถึงว่าครอบคลุมแค่อำเภอบางละมุง แต่หมายถึงแผนที่นี้มีพื้นที่ของอำเภอดังกล่า่วมากที่สุด
ลำดับชุด และระวาง ของแผนที่ จะอยู่มุมขวาบนของแผนที่ดังภาพ
ข้อมูลรายละเอียดของแผนที่ จะอยู่บริเวณตรงกลางด้านล่างของภาพ ดังภาพ
โดยมีค่าที่สำคัญคือ
รูปทรงรี (ELLIPSOID) เป็นรูปทรงของเรขาคณิตรูปทรงรีคล้ายผลส้มใช้ในการคำนวณเพื่อจัดทำแผนที่ฉบับนี้
กริด (GRID) คือ ระบบของการกำหนดพิกัดของแผนที่นี้ ในที่นี้คือระบบพิกัดกริดแบบ UTM Zone 47
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ระบบพิกัดกริดแบบ UTM
พื้นหลักฐานทางดิ่ง (VERTICAL DATUM) คือ ระบบอ้างอิงความสูงของภูมิประเทศโดยอ้างอิงค่าเริ่มต้นจากพื้นหลักฐานทางดิ่งนี้
พื้นหลักฐานทางราบ (HORIZONTAL DATUM) คือ ระบบอ้างอิงระยะทางของแต่ละพื้นที่ โดยปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ระบบ WGS 1984 เป็นสากลทั่วโลก
จัดพิมพ์โดย (PRINTED BY) บอกถึงหน่วยงานที่จัดทำ และปีที่ทำการจัดพิมพ์ บ่งบอกถึงความทันสมัยของข้อมูลภายในแผนที่
คำอธิบายสัญลักษณ์ (LEGEND) อยู่ด้านมุมซ้ายล่า่งของแผนที่
สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เห็นนี้จะปรากฏอยู่ภายในแผนที่ โดยแต่ละสัญลักษณ์จะแทนความหมายของวัตถุหรือลักษณะของภูมิประเทศที่ใช้ในการทำแผนที่
และสารบัญแนวแบ่งเขตการปกครอง (ฺBOUNDARIES) และ อยู่บริเวณมุมขวาล่าง
สารบัญแนวแบ่งเขตการปกครอง (ฺBOUNDARIES) บอกถึงขอบเขตการปกครองภายในแผนที่
สารบัญระวางติดต่อ (ADJOINING SHEETS) บอกถึงระวางแผนที่ข้างเคียงของแผนที่ฉบับนี้
คำแนะนำเกี่ยวกับระดับสูง บอกถึงเขตที่มีความสูงต่างระดับ และแสดงความสูง ณ ยอดเขาประกอบด้วย
ระบบพิกัดประกอบด้วย 2 ระบบพิกัด คือ ระบบพิกัดกริด แบบ UTM และระบบพิกัดแบบภูมิศาสตร์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า องศา ลิปดา และฟิลิปดา
ค่าพิกัดในระบบพิกัดกริดแบบ UTM จะประกอบด้วยตัวเลขที่มีตัวอักษร m ต่อท้าย ซึ่งเป็นตัวย่อของเมตร ซึ่งเป็นหน่วยในการวัดระยะทางนั่นเอง โดยแต่ละช่องตารางกริดจะมีค่าเท่ากับระยะทาง 1 กิโลเมตรในภูมิประเทศจริง
ค่าพิกัดในระบบพิกัดแบบภูมิศาสตร์ จะประกอบด้วยค่า องศา และลิปดา โดยใน 1 ระวางจะมีระยะทางเพียง 15 ลิปดาเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น